กบฏผีบุญ
กบฏผู้มีบุญหรือขบถผีบุญ หรือกบฏผีบ้าผีบุญตามที่รัฐนิยามให้ ที่เกิดขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2443-2446 หรือในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย และไม่ค่อยมีใครจะกล่าวถึงกันมากนักในปัจจุบัน
เพราะด้วยความพยายามของผู้ปกครองที่จะสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชของสยามประเทศหรือที่รู้จักกันในนามของ “การปฏิรูปจักรี” โดยใช้มาตรฐานทางการเมืองการปกครองแบบแผนเดียวกันตลอดอาณาเขต ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคมภาคต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง ยกเว้นภาคกลาง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ เพราะการปฏิรูปดังกล่าวก่อให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเศรษฐกิจในภาคกลาง ที่เห็นได้ชัดก็คือการที่ชาวนาภาคกลาง ได้พ้นจากสภาพการเป็นไพร่ทาสของขุนนางศักดินาต่าง ๆ แล้วหันมาผลิตข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในเขตเพาะปลูกใหม่ที่ได้บุกเบิกขึ้นสำหรับปลูกข้าวเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ เช่น เขตรังสิตและมีนบุรี ผลที่ตามมาก็คือชาวนาในภาคกลางได้เปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองจากสังคมจารีตสมัยเก่าเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ และเปลี่ยนจากการผลิตแบบยังชีพเข้าสู่การผลิตเพื่อขายในระบบทุนนิยม
ส่วนการปฏิรูปจักรีนั้นยังส่งผลต่อการปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างรายได้แก่รัฐ โดยการจัดเก็บในรูปแบบของภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วรวบรวมเข้าสู่ส่วนกลางคือกระทรวงพระคลังโดยผ่านกลไกของระบอบเทศาภิบาล แทนการเก็บเงินค่าราชการแบบเดิมซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของระบอบกษัตริย์นั้นจะใช้การเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วยแบบในอดีต การเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุมาจากเมื่อมีการปลดปล่อยทาสไพร่เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และประกอบกับรัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าแรงงาน
การเก็บเงินค่าราชการก็ได้เริ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเร่งรัดเงินส่วยจากมูลนายที่มีหน้าที่ในการรวบรวมเงินส่วยหรือเงินค่าราชการ เมื่อไม่มีเงินจ่าย มูลนายต้องคืนไพร่สมให้หลวงหมด (ไพร่สม เป็นไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านาย และขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการ ไพร่สมจะตกเป็นของมูลนาย ตราบเท่าที่ขุนนางผู้เป็นมูลนายยังมีชีวิตอยู่ในตำแหน่งราชการ เมื่อมูลนายถึงแก่กรรมไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรของขุนนางผู้นั้นจะยื่นคำร้องขอควบคุมไพร่สมต่อไปจากบิดา) นโยบายนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้พลเมืองระดับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะพวกมูลนายไปเร่งรัดเอาเงินซึ่งเก็บมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เสมอกัน ในปี ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) รัฐบาลจึงออกกฎให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานแต่นั้นมา
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ มาตรฐานดังกล่าวข้างต้นถูกกำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานเศรษฐกิจของภาคกลาง ซึ่งได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราแล้วอย่างชัดเจน และได้เริ่มมีการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์เข้าจัดระบบภาษีทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปี ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาน (ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลราชธานีระหว่าง ร.ศ.112-130 / พ.ศ.2435-พ.ศ.2453) ประกาศให้เก็บค่ารัชชูปการชายฉกรรจ์ผู้มีอายุระหว่าง 18-60 ปี คนละ 3.50 บาท ยกเว้นคนพิการ ข้าราชการ เจ้านายระดับท้องถิ่นและครอบครัว ชาวต่างชาติ นักบวชและพระ ช่างผีมือและเศรษฐี
ในปี ร.ศ.120- ร.ศ.121 (พ.ศ.2444- พ.ศ.2445) เงินค่ารัชชูปการเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อคน นอกจากนี้ภาษีผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย การปรับปรุงภาษีและระบบภาษีนี้เพิ่มภาระให้กับชาวนาชาวไร่อย่างมาก และนอกจากนี้ข้าหลวงสยามยังมีคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีก อันมีผลโดยตรงต่อชาวนา ตัวอย่างเช่น ในปีพ.ศ. 2442 กรมหลวงสรรพสิทธิฯ กำหนดว่าการค้าขายสัตว์ใหญ่ ต้องกระทำต่อหน้าข้าราชการ โดยผิวเผินข้อกำหนดนี้ดูเหมือนเพื่อลดการลักขโมย แท้จริงแล้วเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชประจำถิ่นมีส่วนในการกำหนดราคาซื้อขายควาย ปศุสัตว์ ม้าและช้าง ฯลฯ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ยังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น การสักยันต์ตามร่างกาย ซึ่งคนไทยมองว่าเป็นสิ่งป่าเถื่อน แต่คนพื้นเมืองมองว่าเพื่อป้องโรคภัย ไข้เจ็บ และผีสางต่าง ๆ
แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงโดยรวม แต่สังคมอิสานนั้นก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมือง ที่เกิดขึ้นของรัฐสยามมากนัก ซึ่งก็ยังคงเป็นลักษณะสังคมแบบจารีตประเพณี และยังเป็นสังคมแบบเลี้ยงตนเอง พึ่งตนเอง และสิ่งที่หมู่บ้านในสังคมอิสานได้รับผลกระทบในระยะแรก คือการเกิดขึ้นของโรงสี พ่อค้าชาวจีน การขยายตัวของระบบเงินตราและมีการเปลี่ยนแปลงทางเครื่องมือการผลิตบ้างเพียงเล็กน้อย
กระทั่งในปีชวด ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ปรากฏว่ามีลายแทงหนังสือจานใบลานเป็นคำพยากรณ์ว่าเมื่อถึงกลางเดือนหกปีฉลู ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) จะเกิดเหตุเภทภัยใหญ่หลวง หินแฮ่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นทอง จึงได้มีชาวบ้านไปเอาหินแฮ่มาบูชา โดยใส่หม้อ ใส่ไหปิดฝาไว้ แล้วเอามาตั้งทำพิธีสู่ขวัญบายศรี คำพยากรณ์นั้นยังมีรายละเอียดอีกว่าถ้าใครอยากพ้นเหตุเภทภัยก็ให้บอกหรือคัดลายแทงให้รู้กันต่อ ๆ ไป หรือถ้าใครเป็นคนบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำซึ่งบาปกรรมใด ๆ แล้ว (หรือใครก็ตามที่อยากรวย) ให้เอาหินแฮ่เก็บมารวมกันไว้ รอท้าวธรรมิกราชจะมาชุบเป็นเงินเป็นทอง ถ้าใครกระทำชั่วต่าง ๆ แต่เพื่อให้ตนเป็นคนบริสุทธิ์ก็ต้องทำพิธีตัดกรรมวางเวร
โดยนิมนต์พระสงฆ์มารดน้ำมนต์ให้ ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าควายทุยเผือกและหมูเสียก่อนกลางเดือนหก เพราะมันจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาจับกินคน ส่วนผู้หญิงที่เป็นสาวหรือไม่สาวแต่ยังโสดก็ให้รีบมีสามี มิฉะนั้นยักษ์จะจับกินหมด และรากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำ ซึ่งเป็นฝอยเล็กละเอียด รวมถึงฟักเขียว ดอกจาน (ทองกวาง) ของสามอย่างนี้จะกลายเป็นของมีประโยชน์ คือรากไม้จะกลายเป็นไหม ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ดอกจานจะกลายเป็นครั่งสำหรับใช้ย้อมไหม และในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2444 นั้น จะเกิดลมพายุจัดจนพัดคนปลิวไปกับสายลม และจะมืดถึง 7 วัน7 คืน ให้นำลิ้นฟ้า (ไม้เพกา) มาไว้สำหรับจุดไฟอาศัยแสงสว่างในเวลามืด และให้ปลูกตะไคร้ที่กระได (บันไดบ้าน) เวลาพายุมาให้เหนี่ยวตะไคร้ไว้ จะได้ไม่ปลิวไปตามลม เงินต่าง ๆ ที่มีก็จะกลายเป็นเหล็ก พวกราษฎร์เวลานั้นก็ได้พากันหวาดหวั่นเล่าลือกันแพร่หลายไปทั่วหัวเมืองมลทลอิสาน ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ ที่ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ นั้น เห็นว่าเป็นคำของคนโง่เขลาเล่าลือกันไปสักพักหนึ่งก็คงจะเงียบหายไปเอง จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายนัก
พอตกถึงปลายปี ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ก็ปรากฏว่าที่เมืองเสลภูมิ ได้มีราษฎร์หัวเมืองต่าง ๆ ไปเก็บหินแฮ่ทางตะวันตกเมืองเสลภูมิ ซึ่งชาวบ้านได้เรียกที่ตรงนี้ต่อ ๆ กันมาว่า “หัวโล่เมืองเสล” (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด) ส่วนข่าวลายแทงว่าท้าวธรรมิกราชหรือผู้มีบุญจะลงมาโปรดโลกทางด้านอื่น ๆ นั้น หาได้ยุติลงแม้แต่น้อย ยิ่งแพร่หลายไปทั่วมณฑลอุดร เมืองหล่ม เมืองเลย และทางมณฑลนครราชสีมา ตลอดจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในบำรุงฝรั่งเศส ชาวบ้านเชื่อถือคำทำนายนี้มากเพราะว่าหากเป็นจริงก็หมายถึงชาวบ้านจะมีความสมบูรณ์พูนสุข อยู่ดีกินดีทั้งทางวัตถุและจิตใจโดยทันทีด้วยอิทธิฤทธิ์ ของผู้มีบุญ
ขณะเดียวกันก็เกิดมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญขึ้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วทั้งภาคอิสาน คือที่กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อถือผู้มีบุญ และผู้มีบุญเหล่านี้มักมีพฤติกรรมคล้ายๆ กันคือ อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ จุติมาจากสวรรค์เพื่อมาบอกธรรมแก่ชาวบ้านให้ถือศีล กินถั่วกินงา ตัวผู้มีบุญมักแต่งตัวประหลาดๆ เช่น นุ่งขาวห่มขาว ถือเทียนและดอกไม้ทำน้ำมนต์ และทำพิธีตัดกรรมวางเวร หลายคนอ้างตัวว่าเป็นพระยาธรรมิกราช หรือพระศรีอาริยะเมตไตรย ลงมาโปรดโลกมนุษย์ ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นสมบูรณ์พูนสุขพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ใช่การรอดพ้นทุกข์แบบตัวใครตัวมัน และบ้านเมืองก็จะ “ไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะกลายเป็นเงินเป็นทอง แผ่นดินเป็นตาผ้า แผ่นฟ้าเป็นใยแมงมุม”
ในที่นี่ ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องราวรายละเอียดเฉพาะกลุ่มเจ้าผู้มีบุญที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือกลุ่มขององค์มั่นหรือมาน บ้านสะพือใหญ่ เมืองอุบลราชธานี (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
ครั้นเมื่อถึงปลายปีร.ศ.119 (พ.ศ.2443) มีนายมั่น ว่าเป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือเมืองสุวรรณเขต ซึ่งมีสายสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นลูกน้องขององค์แก้วหรือบักมี ซึ่งเป็นเจ้าผู้มีบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตลาวฝั่งซ้าย เล่าลือกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ชี้ไม้ชี้มือทำอะไรสิ่งไหนเป็นสิ่งนั้น และได้ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมิกราช อ้างตัวว่าจุติมาจากสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมวลมนุษย์ และมีองค์ต่าง ๆ เป็นลูกน้องหรือบริวารในระดับรองลงมาอีกหลายคน เช่นองค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที องค์พระบาท องค์พระเมตไตรย และองค์เหลือง
พวกองค์เหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้าจีบแบบบวชนาคสีต่าง ๆ กัน คือ สีแดง สีเขียวเข้ม และสีเหลืองอย่างจีวรของพระ แล้วก็มีปลอกใบลานเป็นคาถาสวมศีรษะทุกคน องค์มั่นได้พาพวกองค์บริวารเดินทางไปในท้องที่ต่าง ๆ และชักชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมด้วย โดยเริ่มจากร่วมมือกับองค์ฟ้าลั่นหรือหลวงวิชา (บรรดาศักดิ์ประทวน) แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นหมอพื้นเมืองของเมืองตระการพืชผล (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี) โดยองค์มั่นตั้งให้เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์และคอยเสกคาถาอาคมให้กับชาวบ้าน จากนั้นได้ไปซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองโขงเจียมและบ้านนาโพธิ์ ตำบลหนามแท่น แล้วก็ป่าวร้องกับราษฎรว่า “จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นดังคำพยากรณ์ให้พากันระวังตัว” ฝ่ายราษฎรหวาดหวั่นกันอยู่แล้ว ครั้นเห็นคนจำศีลแปลกหน้ามาก็สำคัญว่าเป็นผู้มีบุญและพากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัยพิบัติ มีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยประมาณ 200 คนเศษ จากนั้นก็เข้าไปเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองเขมราช
เวลานั้นได้มี พระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาเมืองเขมราช และท้าวกุลบุตรผู้ช่วยกับท้าวโพธิ์สาร กรมการเมือง ต่อต้านขับไล่ไม่ให้ราษฎร์นับถือเข้าเป็นพรรคพวกด้วย เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้ท้าวกุลบุตรกับท้าวโพธิ์สารเสียชีวิต ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ฝ่ายพวกผู้มีบุญมิได้ทำร้าย เพียงแต่จับขึ้นแคร่หามเป็นตัวประกัน แห่ไปให้เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาเข้าเป็นพวก และได้ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่ มีชาวบ้านนับถือและเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน องค์มั่นผู้มีบุญก็สั่งให้ช่วยกันเกณฑ์ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา มีดพร้า ตลอดจนเสบียงอาหาร ข้าว เกลือ พริกต่าง ๆ เท่ามี และให้ตากข้าวเหนียวสุกยัดใส่ถุงผูกรอบเอว เตรียมจะไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายทางเมืองอุบลราชธานี ขณะที่องค์มั่นผู้มีบุญตั้งพิธีการอยู่บ้านสะพือใหญ่นั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าวก็ได้สั่งให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร่าย (เป็นทหารกองหนุนเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายพลเมืองอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์ฯที่เมืองอุบล) ไปสืบลาดเลาดู พอไปถึงบ้านนาสมัย ที่อยู่ระหว่างบ้านนาหลักกับบ้านห้วย ทางแยกไปอำเภอพนานิคม ก็พบกับพวกผู้มีบุญซึ่งได้ออกมาสืบลู่ทางเพื่อจะไปเมืองอุบลฯ เลยเกิดการปะทะกันขึ้น
ฝ่ายหม่อมราชวงศ์ร่ายมีกำลังน้อยกว่าก็เลยรีบถอยกลับไปเมืองอุบลฯ กราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ตามที่ได้ไปสืบรู้และเห็นมา พวกผู้มีบุญก็ได้ชื่อว่าเป็น“กบฏต่อแผ่นดิน”นับจากนั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าว จึงมีคำสั่งให้นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกองพันทหารราบเมืองอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ถ้ามีผู้ใดคิดการร้ายต่อแผ่นดินก็ให้ปราบและจับตัวมาสอบสวนลงโทษให้ได้ นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาลจึงมีคำสั่งให้นายร้อยตรีหรี่กับพลทหาร 12 คนพร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ เมื่อไปถึงบ้านขุหลุ ก็พบพวกกบฏผู้มีบุญ และเห็นว่ามีกำลังสู้กบฏผู้มีบุญไม่ได้ จึงจะไปหากำลังเพิ่มเติมจากบ้านเกษม แต่ก็ได้เกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันขึ้นที่บริเวณ “หนองขุหลุ” และได้เหลือเพียงพลทหารชื่อป้อมรอดกลับมาเพียงคนเดียว และได้นำความเข้ากราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ โดยทันที ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเมื่อชนะทหารคราวนี้ ก็ได้มีชาวบ้านมาสมัครเข้าเป็นพรรคพวกด้วยราว 1,500 คน ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบความก็ได้ตรัสว่า “ไอ้การใช้เด็กหนุ่ม มันกล้าเกินไป หุนหันพลันแล่น ขาดความพินิจพิเคราะห์ เสียงานดังนี้” จึงทรงสั่งให้หลวงสรกิจพิศาลมีคำสั่งไปถึงนายร้อยเอกชิตสรการผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ให้นำนายสิบพลทหารประมาณ 100 คนเศษ มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนยาวเล็กครบมือ ออกไปปราบพวกกบฏผู้มีบุญให้จงได้ และได้ทรงสั่งให้พระอุบลการประชานิตย์ ข้าหลวงบริเวณเมืองอุบลฯ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (ผู้รักษา-การเมืองอุบลฯ ) เกณฑ์กำลังชาวบ้านสมทบกับทหาร และสั่งให้เคลื่อนขบวนกำลังออกไปปราบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2444 และพอวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2444 ก็ได้พักพลอยู่ห่างจากหมู่บ้านและค่ายของกบฏผู้มีบุญราว 50 เส้น (1 กิโลเมตร)
นายร้อยเอกหลวงชิตสรการ (ผู้บังคับบัญชาไพร่พล) ได้สั่งให้แบ่งทหารออกเป็นปีกซ้าย ปีกขวา และให้เข้าโอบล้อมพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นนัดแรก นายร้อยหลวงเอกชิตสรการเลือกได้ชัยภูมิที่ดี เป็นสายทางย่านตรงที่จะไปยังเมืองอุบลฯ และเป็นทางแคบ สองข้างทางเป็นป่าทึบเหมาะสำหรับตั้งดักซุ้มทหารไว้ในป่า ตรงหัวโค้งเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่ไว้ใต้พุ่มไม้ เมื่อพวกกบฏผู้มีบุญมาถึงตรงช่องนั้นก็ให้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่
ครั้นรุ่งขึ้นของวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2444 เวลาประมาณ 09.00 น. พวกกบฏผู้มีบุญก็ได้ยกกำลังจะไปตีเมืองอุบลฯ และผ่านตามทางที่ร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มปืนใหญ่ และดักกองทหารพรางไว้ จากนั้นก็ได้สั่งให้ทหารปืนเล็กยาวออกขยายแถว ยิงต้านไว้แล้วทำเป็นถอยล่อให้พวกกบฏผู้มีบุญตามมายังชัยภูมิที่ตั้งไว้ พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ก็สั่งให้ยิงออกไปนัดหนึ่ง โดยตั้งศูนย์ให้ข้ามพวกกบฏผู้มีบุญไปก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้ปีกซ้ายปีกขวารู้ตัว ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเห็นกระสุนปืนใหญ่ไม่ถูกพวกตนก็โห่ร้อง ซ่า ซ่า และวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร หลวงชิตสรการจึงสั่งให้ยิงออกไปอีกเป็นนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนใหญ่กะให้ตกระหว่างกลางพวกกบฏผู้มีบุญ คราวนี้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดลงถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญล้มตายหัวเด็ดตีนขาดระเนระนาด ส่วนพวกทหารปืนเล็กสั้นยาว ปีกซ้ายปีกขาว ก็ระดมยิงโห่ร้องซ้ำเติมเข้าไปอีก ฝ่ายกบฏผู้มีบุญที่อยู่ข้างหลังเห็นดังนั้นก็ชะงัก และปืนใหญ่ก็ยิงซ้ำเข้าไปอีกนัดที่ 3 ถูกพวกกบฏผู้มีบุญล้มตายประมาณ 300 คนเศษ ที่เหลือก็แตกฮือหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนองค์มั่นนั้นรอดชีวิตและปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ทหารและกำลังชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มา ก็ได้ออกตามล่าจับกุมแต่ไม่ทัน และไม่ทราบว่าหนีไปทางใด ทราบข่าวตอนหลังว่าได้หลบหนีข้ามฟากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว
ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาการเมืองเขมราชซึ่งถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญจับกุมตัวไว้คราวนั้น ไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนใหญ่ หลวงชิตสรการ จึงได้นำตัวมาเข้าเฝ้าข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รวมทั้งคุมพวกกบฏผู้มีบุญที่รองๆ จากองค์มั่นและพรรคพวกชาวบ้านที่เข้าร่วมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 400 คนเศษ คุมใส่ขื่อคาจองจำไปยังเมืองอุบลฯ เพื่อฟังรับสั่งจากข้าหลวงต่างพระองค์ต่อไป ส่วนข้าหลวงต่างพระองค์ก็มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงว่า “ให้ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ เจ้าหน้าที่สืบจับพวกกบฏผีบุญที่กระเซ็นกระสายและหลบหนีคราวต่อสู้กับทหาร อย่าให้มีการหลบหนีไปได้เป็นอันขาด หรือผู้ใดที่สมรู้ร่วมคิดและปกปิดพวกเหล่าร้ายและเอาใจช่วยให้หลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปิดบัง และเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้นๆ อย่างหนัก” ผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญองค์สำคัญๆ ที่ถูกจับกุมมาได้คราวนั้นมีอยู่หลายองค์ เช่น
- องค์เหล็ก (นายเข้ม) ถูกจับกุมได้ที่บ้านหนองซำ ท้องที่เมืองเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
- พระครูอิน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ วัดบ้านหนองอีตุ้ม ตำบลสำราญ อำเภอยโสธร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร)
- ท้าวไชยสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโพนเมือง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อ.ตระการพืช จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์บุญ ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่เมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์ลิ้นก่าน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านพับแล้ง อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์พรหมา ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านแวงหนองแก้ว ท้องที่ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
- องค์เขียว ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ในเมืองอุบลฯ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี)
- กำนันสุ่น บ้านส่างมิ่ง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อ.เกษมสีมา (เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อำเภอม่วงสามสิบ” จังหวัดอุบลราชธานี ) กำนันสุ่นนั้น ทางราชการได้สั่งให้เป็นหัวหน้านำกำลังพลไปช่วยปราบกบฏผีบุญ พอไปถึงกลางทุ่งได้พาชาวบ้านโกนคิ้วโกนหัว ไปเข้าเป็นฝ่ายองค์มั่นผู้มีบุญ
- หลวงประชุม (บรรดาศักดิ์ประทวน) ซึ่งทำการเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เกลียดชังรัฐบาลสยาม
ฝ่ายกบฏผู้มีบุญนั้น ส่วนมากจะถูกจับกุมมาจากบ้านสะพือใหญ่จนล้นคุกตะราง ไม่มีที่คุมขัง ได้ถูกเจ้าหน้าที่จองจำขื่อคาไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง 2-3 วัน ตากแดดกรำฝน เพื่อรอคณะตุลาการสอบสวนตัดสิน บ้างถูกตัดสินให้ปล่อยตัวและภาคทัณฑ์ไปมากเพราะเป็นปลายเหตุ ส่วนหัวหน้าคนสำคัญๆ ดังกล่าวมา ถูกคณะตุลาการพิจารณาเป็นสัตย์ฐานกบฏก่อการจลาจลภายใน จึงพร้อมกันพิพากษาเป็นเอกฉันท์ตัดสินให้ประหารชีวิต และข้าหลวงต่างพระองค์ฯได้มีรับสั่งให้นำตัวนักโทษไปประหารชีวิตแล้วเสียบประจานไว้ ณ ที่เกิดเหตุทุกแห่งที่จับมาได้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดินสืบไป ส่วนพระครูอินกับพระสงฆ์อีก 3 รูปที่เป็นพวกฝ่ายกบฏผีบุญ ให้อยู่ในสมณเพศ ในเขตจำกัดตลอดชีวิต หากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต ก่อนการประหารชีวิตกบฏผีบุญครั้งนั้น เมอสิเออร์ลอร์เรน (ชาวฝรั่งเศสซึ่งทางการไทยจ้างมาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ณ เมืองอุบลฯ) ได้ทูลถามข้าหลวงต่างพระองค์ฯว่า “พระองค์มีอำนาจอย่างไร ในการรับสั่งให้ประหารชีวิตคนก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต ”ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รับสั่งตอบว่า “ให้นำความกราบบังคมทูลดู” เมอร์สิเออร์ลอร์เรนเลยเงียบไป
เมื่อปราบกบฏผู้มีบุญเสร็จแล้ว ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ได้ส่งมอบมงกุฎขององค์กบฏผู้มีบุญหัวหน้าใหญ่ (องค์มั่น) เข้าไปยังเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหมวกหนีบสักหลาดและปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แล้วทรงประทานรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความดีความชอบในคราวปราบกบฏผีบุญ ลดหลั่นกันมาก-น้อย เป็นเงินอย่างสูง 100 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 25 สตางค์ สมัยนั้นนับว่ามากมายนัก ถ้าเป็นข้าราชการทหารหรือพลเรือน และคณะกรมการเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับพระราชทานเหรียญตราขั้น 6-7 (เหรียญมงกุฎสยามและช้างเผือก) ตามลำดับ เป็นบำเหน็จความดีความชอบ ส่วนพลทหารป้อมมีความชอบ ที่นำความมาแจ้งคราวออกไปสืบข่าวกับนายร้อยตรีหรี่และต่อสู้โดยไม่คิดชีวิตก็ได้รับพระราชทานสิ่งของและเสื้อผ้าตามความเหมาะสม
และต่อมาก็ได้มีตราประกาศ ห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือผีสางใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นอันขาด เช่น เข้าทรงลงเจ้า สูนผี มีผีไท้ ผีฟ้า ผีมเหศักดิ์หลักเมืองฯลฯ ต่าง ๆ ด้วยอาการใด ๆ ก็ดี ให้เจ้าหน้าที่หัวเมืองจับผู้ลงผีถือนั้นไปทำการไต่สวนพิจารณา ถ้าได้ความจริงให้ปรับเป็นเงินคนละ 12 บาท มีรางวัลให้แก่ผู้แจ้งจับส่วนเงินรางวัลหลวงออกให้ และถ้าไม่มีเงินเสียค่าไถ่โทษ ให้จำคุก 1 เดือน หลังจากมีประกาศออกไปเช่นนี้ บรรดาพวกนับถือผีสางกลุ่มต่าง ๆ ก็สงบเงียบไป เงินรางวัลที่ทรงตั้งไว้หาได้จ่ายแก่ผู้แจ้งจับผู้ที่นับถือผีสางคนทรงถึง 3 รายไม่ เพราะราษฎรมีความเกรงกลัว และเข็ดหลาบจำ เมื่อคราวปราบกบฏผู้มีบุญ ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีกฎหมายเรื่องผีสางขึ้นเมื่อ ร.ศ.124,พ.ศ.2448 (และได้มีการประกาศพระราชบัญญัติทาส รศ. 124 ,พ.ศ. 2448) และปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะปราบกบฏผู้มีบุญลงได้ ก็ยังมีผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้มีบุญขึ้นอีกในหลายๆแห่ง และยังได้มีการนำเอาอุดมการณ์พระศรีอาริยะมาใช้ในการก่อกบฏของชาวบ้านอย่างแพร่หลาย
การก่อกบฏเพื่อปฏิเสธรูปแบบการปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช และปฏิเสธอำนาจรัฐสยาม ในช่วงสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์มีมากถึง 13 ครั้ง ได้แก่ กบฏญาณพิเชียร (พ.ศ.1124) กบฏธรรมเสถียร (พ.ศ.2237) กบฏบุญกว้าง (พ.ศ.2241) กบฏเชียงแก้ว (พ.ศ.2334) กบฏสาเกียดโง้ง (พ.ศ.2358) กบฏพญาผาบหรือพญาปราบ (พ.ศ.2432) ที่นครเชียงใหม่ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการต่อต้านระบบการเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว คือมีการเก็บภาษีพืชสวน ดังนี้ หมาก 2 ต้นต่อวิ่น มะพร้าว 1 ต้นต่อวิ่น (1 วิ่น เท่ากับ 12.5 สตางค์) ซึ่งถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎร์เป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเกิดกบฏศึกสามโบก (พ.ศ.2438) กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445) กบฏผู้มีบุญอิสาน (พ.ศ.2444-พ.ศ.2445 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) กบฏผู้มีบุญภาคใต้ (พ.ศ.2452-พ.ศ.2454) ซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่ตำบลบ้าน อำเภอยะรัง เมืองหนองจิก ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลปัตตานี และยังขยายไปถึงเมืองยะลาและสายบุรี มีสาเหตุมาจากสภาพปัญหาการปฏิรูปการปกครอง การเก็บภาษีอากร และความไม่มีประสิทธิภาพของข้าราชการประจำท้องถิ่น จนถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและศาสนา กบฏเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว (พ.ศ.2467) กบฏหมอลำน้อยชาดา (พ.ศ.2479) กบฏนายศิลา วงศ์สิน (พ.ศ.2502) และเป็นกบฏที่เกิดขึ้นในเขตอิสาน 5 ครั้ง ภาคกลาง 4 ครั้ง และภาคใต้ 1 ครั้ง
ฝ่ายกบฏเจ้าผู้มีบุญต่างเชื่อถือว่าอุดมการณ์พระศรีอาริยะเป็นอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือเพื่อการปฏิวัติสังคมไปสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้นของมนุษย์ และมีความอยู่ดีกินดีสมบูรณ์พูนสุขทั้งทางจิตใจและวัตถุ ทำให้อุดมการณ์นี้ถูกนำไปใช้ในขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านซึ่งปรากฏเป็นจำนวนหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ที่ปรากฎชัดเจนที่สุดคือขบวนการผู้มีบุญภาคอิสานซึ่งมีหลายสาเหตุปัจจัย ที่เป็นตัวผลักดันให้ก่อเกิดเป็นรูปของการเคลื่อนไหว ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกหาความเป็นอิสระและความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ และเนื่องจากสังคมอิสานเองนั้น ก่อนที่จะมีขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้น ก็กำลังเผชิญในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะพบว่าเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398) มีผลกระทบต่อชาวนาภาคอื่นค่อนข้างน้อยกว่าภาคอิสาน เพราะภาคอิสานนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว ในยุคนั้นยังมีของป่าต่าง ๆ นาๆ ไม่แพ้ภาคอื่น ๆ แต่การขนส่งก็ถือว่าค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เนื่องจากเพิ่งมีการขยายเส้นทางสร้างสถานีรถไฟ ที่ไปถึงเพียงแค่นครราชสีมาเท่านั้นเอง
หากมองในแง่ของวิธีการทำงานขยายมวลชนของกบฏผู้มีบุญ จะเห็นว่าได้มีการนำเอาความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงร้อยกันกับธรรมชาติและยังหลอมรวมกับพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาแบบทางการ พระหรือวัดนั้นถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เช่น หากไม่สบายก็จะมาให้พระที่วัดรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ผูกด้ายสายสิญจ์ข้อมือ ปัดเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ฯลฯ และนอกจากนี้ยังมีหมอธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ผ่านการบวชเรียน มาทำพิธีกรรมปัดเป่าโรคภัย ไข้เจ็บให้กับชาวบ้าน
ในเรื่องของอุดมการณ์ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมาย หลักคิด และวิธีคิดที่สำคัญอันจะนำไปสู่การปฏิบัตินั้น อุดมการณ์ของกบฏผู้มีบุญนั้นต้องการระบบการปกครองแบบใหม่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่ ที่ไม่ต้องการขึ้นตรงต่อรัฐเลย และ กบฏผู้มีบุญไม่สามารถที่จะเป็นอิสระจากรัฐได้อย่างแน่นอน
รูปแบบโครงสร้างการจัดองค์กรของกบฏผู้มีบุญ เป็นไปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องมีสัตยาบันหรือโองการแช่งน้ำใด ๆ เพียงแต่ศรัทธาต่อความเชื่อในอุดมการณ์พระศรีอาริยะ ก็มาเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏผู้มีบุญได้เลย โดยผู้ที่ชวนกันมาเข้าร่วมนั้นจะรู้จักมักคุ้นกันแบบพี่น้องหรือเครือญาติ และไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรมากมายนัก ส่วนในด้านการนำหรือผู้นำ รวมทั้งการตัดสินใจนั้น ถือว่ามีการรวมศูนย์ไว้ที่ฝ่ายหัวหน้าของกบฏผู้มีบุญ และผู้ที่เข้าร่วมในขบวนการส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ กำลังพลที่มีอยู่นั้นถือว่าไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้าน และนอกจากนี้ยังขาดองค์ความรู้ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ ส่วนอาวุธที่ใช้ก็เป็นแบบหาได้เท่าที่จะมีกัน ดังนั้นถ้ามองในแง่การต่อสู้ของกบฏผู้มีบุญ ถือว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับกำลังของฝ่ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช
ส่วนในด้านสภาพทางสังคมหรือภูมิศาสตร์ ในระยะเวลาก่อนเกิดการเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญนั้น พบว่าเขตมณฑลอิสานประสบปัญหาฝนแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ชาวบ้านทำนาไม่พอกิน และบางหมู่บ้านยังได้อพยพไปอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในเขตของนครเวียงจันทร์และนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเมื่อก่อนถือนั้นว่าเป็นประเทศราชของสยามในยุครัชกาลที่ 3 และสงครามสยาม-ลาว ในปีพ.ศ.2370 ที่เรียกกันว่า “ศึกเจ้าอนุวงศ์” ผู้ปกครองเวียงจันทร์และจำปาศักดิ์ ที่พยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจการปกครองของสยามประเทศ และต้องการเข้าครอบครองที่ราบสูงโคราชทั้งหมดคืน ได้ยุติลงด้วยการพ่ายแพ้ ของกษัตริย์ราชวงศ์ลาว และถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของอาณาจักรเวียงจันทร์
ส่วนทางสยามเองก็ได้กวาดต้อนเชลยลาว เอามาไว้เลี้ยงม้าเลี้ยงช้าง และให้ตั้งรกรากอยู่ในแถบฝั่งธนบุรีและเขตบางบอนในยุคนั้น และเมื่ออิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มคุกคามแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนที่เป็นเขมร ลาว ญวน จะพบว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยได้เข้าไปแทรกแซงการปกครองหัวเมืองลาวโดยตรงมากยิ่งขึ้น เริ่มจากปีพ.ศ.2434 และต่อมาในปีพ.ศ.2437 หลังการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว รัฐสยามก็ได้เริ่มจัดการปกครองในระบอบเทศาภิบาล มีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลต่าง ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อรวมอาณาเขตทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช ส่วนในบางพื้นที่ก็หาของป่าเลี้ยงชีพไปตามมีตามเกิด ในขณะเดียวกันก็ต้องรับภาระเสียภาษีให้กับรัฐด้วย นอกจากนี้ยังประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการในยุคนั้น ก็ยังไม่เปิดให้มีการเรียกร้องหรือร้องเรียนในเรื่องปัญหาต่าง ๆ อย่างชัดเจน และในบางหมู่บ้านที่ปลูกพืชผักได้ก็จะหาบพริก หาบผัก หาบเกลือ เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าว บางครั้งก็มีลูกเต้าติดสอยห้อยตามไปหาบข้าวด้วย บ้างไปขอข้าวที่หมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ด้วย อย่างยากลำบาก ส่วนรัฐสยามเองก็หาได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างที่ควรเป็นไม่ ตรงกันข้ามกลับมุ่งพัฒนาประเทศให้เทียบเคียงอารยะธรรมตะวันตก มาโดยตลอด ที่เห็นได้ชัดเจนก็นับตั้งแต่ พ.ศ. 2398 ที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่ง
กบฏผู้มีบุญภาคอิสานนั้นถือว่าเป็นขบวนการกบฏของชาวนา และถือเป็นขบวนการลุกขึ้นสู้ของผู้ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายหลักของกบฏผู้มีบุญภาคอิสานคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเดิมที่มีอยู่อย่างไม่เป็นธรรมไปสู่สังคมที่ดีกว่า
โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ